ร้านสะดวกซื้อญี่ปุ่นเจาะตลาดเกษตรกรรม อุปทานทางการเกษตรในอนาคตขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ
I HSIN CHEN(China Productivity Center Smart Agriculture Promotion Department)
โครงสร้างอุตสาหกรรมการเกษตรญี่ปุ่นมีความคล้ายคลึงกับไต้หวัน ประสบปัญหาเกษตรกรอายุสูง, ที่ดินทำกินรกร้างว่างเปล่าและถูกทอดทิ้งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ, กอปรกับผลกระทบที่เกิดจากการค้าเสรี ในปี 2557 เกษตรกรในญี่ปุ่น จำนวน 2.266 ล้านคน มีเกษตรกรอายุสูงเกิน 65 ปี 64% ในขณะที่พื้นที่เกษตรกรรมที่ถูกทิ้งร้างมีพื้นที่ประมาณ 4,000 ล้านตารางเมตร หรือเกือบ 2 เท่าของพื้นที่เมืองโตเกียว เนื่องจากการเกษตรของญี่ปุ่นส่วนใหญ่ดำเนินการโดยคนในครอบครัว จึงขาดการพัฒนาทางอุตสาหกรรมและขาดระเบียบการจัดการ พื้นที่เกษตรกระจัดกระจาย การเพาะปลูกใช้ต้นทุนเวลาสูง การบริหารจัดการแย่ ไม่มีประสิทธิภาพ สินค้าเกษตรที่เกษตรกรผลิตออกมา ส่วนใหญ่จะขายผ่านความช่วยเหลือของสมาคมเกษตรในท้องถิ่นๆ ซึ่งเป็นการยากที่จะได้รับรายได้สูง ดังนั้นรายได้เกษตรกรต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยประชาชนญี่ปุ่นมาก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดึงดูดคนรุ่นใหม่มาทำงานเกษตร
ด้วยปัญหาเกษตรกรอายุสูง, พื้นที่เพาะปลูกถูกทิ้งร้างเพิ่มขึ้น, จำนวนเกษตรกรลดลง, เสี่ยงต่อการขาดแคลนสินค้าเกษตรในอนาคต ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการช่องทางการขายปลีกในญี่ปุ่นกระตือรือล้นที่จะทำตลาดเกษตรกรรมโดยก่อตั้งฟาร์มและบริหารเองหรือร่วมมือกับเกษตรกรสร้างฟาร์มเกษตร สร้างสรรค์เกษตรกรรุ่นใหม่ขึ้นเพื่อความมั่นคงในคุณภาพและอุปทานของสินค้าเกษตร ตัวอย่างเช่น AEON บริษัทค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ก่อตั้งบริษัท AEON AGRI CREATE ขึ้นในปี 2552 บริหารจัดการ การผลิตสินค้าเกษตร, การแปรรูปสินค้า, ก่อตั้งฟาร์ม Ibaraki Ushiku Farm ซึ่งปัจจุบันได้ขยายกิจการเป็น 18 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่เมืองฮอกไกโดจนถึงเมืองคิวชู ฟาร์มมีขนาด 2.8 ล้านตารางเมตร ปัจจุบันกลายเป็นผู้ปลูกผักรายใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น แต่ละปีสามารถปลูกผักและผลไม้ได้ประมาณ 2 หมื่นตัน เมื่อเก็บเกี่ยวจะส่งต่อไปขายในซุปเปอร์มาร์เก็ต ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าเกษตรได้โดยตรงและปลอดภัย อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ บริษัท Ito-Yokadoในเครือของ Seven& I Holdings ที่ก่อตั้งฟาร์ม SEVEN FARM ขึ้นในปี 2008 ปัจจุบันได้ขยายสาขาเพิ่มเป็น 10 สาขาแล้ว สินค้าเกษตรขายในร้าน Ito-Yokado, หน้าร้านทำหน้าที่รวบรวมอาหารเหลือทิ้ง, ทำปุ๋ยหมัก, แล้วส่งกลับไปฟาร์ม เพื่อใช้ในการเพาะปลูกต่อไป นับเป็นการเกษตรกรรมรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม
ร้านสะดวกซื้อยักษใหญ่อันดับสองของญี่ปุ่น LAWSON ร่วมกับเกษตรกร ก่อตั้งฟาร์ม LAWSON farm ขึ้นในปี 2010 ปัจจุบันมีทั้งหมด 23 แห่ง จากเหนือสุด Hokkaido ถึงใต้สุด Kagoshima ทั่วญี่ปุ่น อาศัยความแตกต่างของภูมิอากาศ ทำให้สามารถเพาะปลูกได้ตลอดปี และเนื่องจากฟาร์มกระจายอยู่ในทุกที่ของญี่ปุ่น LAWSON จึงนำระบบการจัดการคลาวด์มาใช้ในแต่ละฟาร์ม รวมถึงระบบบัญชีและระบบการเพาะปลูก เพื่อให้สถานะการเงินและสถานะการเพาะปลูกของแต่ละฟาร์มของ LAWSON สามารถจัดการได้แบบเรียลไทม์ผ่านอินเตอร์เน็ต, ช่วยเหลือและให้คำปรึกษาเกษตรกรให้เข้าใจถึงโครงสร้างต้นทุนการผลิตและการบริหารจัดการฟาร์ม, ตลอดจนให้คำปรึกษาการปรับปรุงการดำเนินงานของฟาร์ม ในอนาคต หวังว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมาย การดำเนินงานฟาร์ม การผลิต และการขายตามที่วางแผนไว้อย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในการเกษตรดั้งเดิม ในขณะเดียวกันยังสามารถควบคุมปริมาณการขนส่งและระยะเวลาในการจัดส่งได้
แต่ละฟาร์ม LAWSON farm มีขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกัน แต่มีหน้าที่เฉพาะของแต่ละฟาร์ม โดยอาจเพาะปลูกพืชชนิดเดียวหรือหลายชนิด ขึ้นอยู่กับปัจจัยความต้องการของตลาด และศักยภาพของสินค้า หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเกษตรกรหุ้นส่วนมี 3 ประการ คือ 1. เลือกเกษตรกรรุ่นใหม่เป็นหลัก เนื่องจากต้องการให้เป็นผู้นำทีมการบริหารจัดการและการเพาะปลูก 2. ต้องมีการขยายช่องทางการขายเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ขายผ่านสมาคมการเกษตรเท่านั้น ต้องมีช่องทางการขายอื่นๆ อีก เพื่อให้เกษตรกรมีแนวคิดในการเป็นผู้ประกอบการไม่ใช่แค่ผู้ผลิตเท่านั้น 3. เกษตรกรต้องมีเจตจำนงที่พัฒนาความสามารถทางการเพาะปลูก กระตือรือล้นที่จะปรับปรุงเทคนิคการเกษตรอย่างจริงจัง หาก LAWSON และเกษตรกร มีมุมมองและแนวคิดดังหลักเกณฑ์ข้างต้น จึงร่วมกันลงทุนจัดตั้ง LAWSON farm โดยเกษตรกรลงทุน 75%, LAWSON ลงทุน 15%, บริษัทในเครือ LAWSON ลงทุนอีก 10% จัดตั้งเป็นองค์กรการผลิตทางการเกษตร
ภายใต้แนวคิด LAWSON farm ที่ เกษตรกรมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการผลิต, LAWSON พยายามขายอย่างสุดความสามารถ, ผักผลไม้ที่ผลิต LAWSON รับซื้อทั้งหมด, หากประสบปัญหาภัยธรรมชาติ LAWSON แบกรับความสูญเสียทั้งหมด, LAWSON มีส่วนร่วมในการดำเนินงานทั้งหมดตั้งแต่การเพาะปลูก การขาย ไปจนถึงการพัฒนาสินค้า, กระตุ้นการยกระดับการเกษตรอุตสาหกรรมระดับ 6 หวังว่าจะสร้างโอกาสในการทำงาน, เพิ่มรายได้เกษตรกร, กระตุ้นอุตสาหกรรมในท้องถิ่น ยกตัวอย่างเช่น ฟาร์ม LAWSON farm ในพื้นที่ Tottori หัวไชเท้าและมันฝรั่ง ถูกแปรรูปโดยโรงงานข้างเคียงเป็นส่วนผสมของโอเด้งวางขายในร้าน LAWSON ทั่วประเทศ ตัดปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและขยายผลผลิตภัณฑ์นอกกรอบสินค้าเกษตรทั่วไปที่ไม่ได้ขายแค่สินค้าสดเท่านั้น
ผู้ประกอบการช่องทางการขายปลีกในญี่ปุ่นต่างหันมาทำการตลาดเกษตรกรรม ร่วมมือกับเกษตรกรก่อตั้งฟาร์ม ทำให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่การเพาะปลูก การแปรรูป การผลิตสินค้า และการจำหน่าย สามารถควบคุมวิธีการผลิต อุปทาน และคุณภาพของสินค้าเกษตร, สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในด้านความปลอดภัยของอาหารได้ดีขึ้น, อีกทั้งยังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาด ปัจจุบันผู้ประกอบการช่องทางการขายปลีกในไต้หวันส่วนใหญ่จะทำสัญญารับซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกรหรือทำสัญญารับซื้อในราคาที่ตกลงกันไว้ก่อน สร้างเสถียรภาพของวัตถุดิบ อุตสาหกรรมการเกษตรญี่ปุ่นและไต้หวันกำลังเผชิญปัญหาคล้ายคลึงกัน การที่ผู้ประกอบการช่องทางการขายปลีกในญี่ปุ่นจับมือกับเกษตรกรก่อตั้งฟาร์มบริหารและจัดการร่วมกัน เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างสำหรับการพัฒนาการเกษตรไต้หวันในอนาคต