กลยุทธ์การรับมือของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หลังโควิด-19
:::

กลยุทธ์การรับมือของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หลังโควิด-19

I. บทนำ

 

โรคโควิด-19 ที่ระบาดหนักในปี 2563 ส่งผลให้มีนโยบายควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศอย่างเข้มงวดในหลายประเทศ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเสียหายอย่างหนัก จากสถิติของสำนักงานการท่องเที่ยวในปี 2563 มีนักท่องเที่ยวเข้าไต้หวัน จำนวน 1,377,861 คน ลดลงจาก 11.86 ล้านคนในปี 2562 ลดลงสูงถึงร้อยละ 88.39 หากพิจารณาในแง่ของจำนวนผู้เดินทางออกนอกประเทศ ในปี 2563 จำนวน 2,335,564 คน ลดลงจาก 17,101,335 ในปี 2562 คิดเป็นร้อยละ 86.34 แสดงให้เห็นว่า ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งขาเข้าและขาออกของไต้หวันได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งนี้สำนักงานการท่องเที่ยว ประเมินว่า ในปี 2564 จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไต้หวันจะไม่เกิน 1 ล้านคน แสดงให้เห็นว่า เป็นการยากที่จะฟื้นฟูการท่องเที่ยวให้กลับมาเหมือนเดิมได้ในระยะสั้น

 

ด้วยนโยบายควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศที่เข้มงวด แต่ความต้องการการท่องเที่ยวยังคงมีอยู่ ดังนั้นตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศยังคงเฟื่องฟู จากตัวเลขสถิติของสำนักงานการท่องเที่ยว ประมาณการว่า การท่องเที่ยวขาออกถูกปรับเปลี่ยนเป็นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ดังนั้นในปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศจึงสูงถึง 210 ล้านคน ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบเกือบ 10 ปี จากสถิติของห้องสมุดเทศบาลเมืองนิวไทเป (New Taipei City Library) ในปี 2563 พบว่า จำนวนหนังสือแนะนำท่องเที่ยวในประเทศถูกยืมออกไปมากกว่าในปี 2562 ถึงร้อยละ 143 แสดงให้เห็นว่า แม้จะมีข้อจำกัดของการเดินทางระหว่างประเทศ แต่ประชาชนก็ยังสนใจและชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวอยู่ และเลือกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศแทน

 

เนื่องด้วยมีบริษัททัวร์ที่เน้นให้บริการท่องเที่ยวภายในประเทศอยู่แล้ว และนักท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 90 ชื่นชอบที่จะเดินทางท่องเที่ยวเอง โดยจะขับรถท่องเที่ยวเอง และด้วยผลกระทบของโรคระบาดโควิด ทำให้บริษัทท่องเที่ยวกว่า 4,000 บริษัท ต้องหันมาขายรายการนำเที่ยวในประเทศ และใช้นโยบายลดราคาเพื่อแย่งชิงลูกค้า หลังเงินงบประมาณเพื่อการบรรเทาทุกข์ของรัฐบาลหมดลง บริษัทนำเที่ยวจะเอาชีวิตรอดในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ได้อย่างไร

 

II การใช้นวัตกรรม รับมือ Covid-19

การท่องเที่ยว คือ ประสบการณ์ที่หลากหลาย ผสมผสานการกิน ช้อป พัก เดินทาง และบันเทิงเข้าด้วยกัน จากการสังเกตของผู้เขียน พบว่าโควิด-19 ได้ให้โอกาสในการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส การที่มีผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดในประเทศ ส่งผลให้เกิดแนวคิดเชิงนวัตกรรม ทำให้ต้องกลับมาคิดทบทวนธุรกิจท่องเที่ยวในไต้หวันใหม่อีกที ผู้เขียนได้รวบรวมและสรุปกลยุทธ์เชิงนวัตกรรมของการทำทัวร์ในไต้หวัน ในปี 2563 ยุคโควิด-19 ดังนี้:

 

1. การคมนาคมเป็นสิ่งสำคัญหลักของการท่องเที่ยวภายในประเทศ

ในอดีต การคมนาคมขนส่ง มีจุดประสงค์เพียงเพื่อเชื่อมจุดท่องเที่ยวเท่านั้น แต่โควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการบินและการล่องเรือได้พัฒนาโปรแกรม "การท่องเที่ยวเสมือนจริง" ซึ่งเป็นการคมนาคมขนส่งที่ไม่เพียงแค่การขนส่งอีกต่อไป โปรแกรมอาจรวมถึงประสบการณ์การบิน การเสิร์ฟอาหารเลิศรส และการเยี่ยมชมพื้นที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ มอบประสบการณ์พิเศษให้กับลูกค้าที่สงสัยเกี่ยวกับการเดินทางทางอากาศ หรือการจัดการสนามบิน แผนการเดินทางล่องเรือ ซึ่งเดิมจัดสำหรับการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ปัจจุบันมีกำหนดการเดินทางท่องเที่ยวเกาะในประเทศ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์การล่องเรือ โดยไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ และยังช่วยลดปัญหาเที่ยวบินภายในประเทศไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังช่วยยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวด้วยรถไฟอีกด้วย รถไฟด่วน Chukuang express train ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 70 ปี ได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “อนาคต” รถไฟท่องเที่ยวที่ตกแต่งภายในระดับห้าดาว ได้รับรางวัล "Good Design Award" จากประเทศญี่ปุ่นในปี 2563 รถไฟอนาคตขบวนนี้เริ่มให้บริการในวันสิ้นปี 2563 นอกจากผู้โดยสารจะได้สัมผัสความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวของในแต่ละฤดูแล้ว ยังจะได้สัมผัสถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ของไต้หวัน ทำให้ได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ทุกครั้งที่เดินทาง ทุกทริปถูกจองเต็ม ทั้งๆ ที่ราคาค่อนข้างสูง

 

2. การท่องเที่ยวคุณภาพสูง

การปิดประเทศเพราะโควิด-19 ส่งผลดีต่อตลาดนักท่องเที่ยวระดับสูงในประเทศอย่างไม่คาดคิด คุณ Huang Cheng-Tsung รองศาสตราจารย์ภาควิชาการท่องเที่ยวแห่งมหาวิทยาลัย Providence เปิดเผยว่า ในปี 2563 มูลค่าของการท่องเที่ยวในประเทศสูงถึงประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ไต้หวัน และคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 50 เป็น 3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2564 ผู้บริโภคนำงบท่องเที่ยวต่างประเทศมาท่องเที่ยวในประเทศแทน พวกเขาต้องการประสบการณ์การเดินทางที่ดีและพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น โรงแรมน้ำแร่ออนเซนสไตล์ญี่ปุ่น ภาคกลางของไต้หวัน ชูที่ประเด็น การบำบัดด้วยน้ำแร่ออนเซน ชมวิวภูเขา กินอาหาร และทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยความโด่ดเด่นที่พิเศษเป็นเอกลักษณ์อย่างแท้จริงเหล่านี้นี่เอง ทำให้ห้องพักถูกจองเต็มทุกวัน ถึงแม้ว่าราคาแพคเกจ 3 วัน 2 คืน จะสูงถึง 60,000 ไต้หวันดอลลาร์ก็ตาม นอกจากนี้ กิจกรรมแคมป์ปิ้งก็ได้รับความนิยมทั่วไต้หวันเช่นกัน แพ็กเกจแคมป์ปิ้งที่ผนวกกิจกรรมงานฝีมือแบบดั้งเดิมของชนพื้นเมืองในท้องถิ่น อาหาร และวิวธรรมชาติ ราคาแพคเกจสูงถึง 5,000 ไต้หวันดอลลาร์/คน/วัน (ราคานี้รวมอาหารค่ำและอาหารเช้าแล้ว) ก็สามารถดึงดูดกลุ่มเยาวชนและครอบครัวได้เป็นจำนวนมากเช่นกัน

 

3. การพัฒนารายการนำเที่ยวคุณภาพเชิงลึก

พัฒนารายการนำเที่ยวเชิงลึกให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์แปลกใหม่ที่ไม่เหมือนใครและมีเอกลักษณ์โด่ดเด่น หายาก แทนการขายกิจกรรมซ้ำๆ เดิมๆ คัดลอกได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่น สินค้าท่องเที่ยว หมู่บ้าน Smangus ที่อยู่ในหุบเขาสูงและห่างไกลจากตัวเมือง Hsinchu เป็นที่พักอาศัยของชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความโด่ดเด่นทางวัฒนธรรม เป็นเขตที่พักอาศัยของชนเผ่า Atayal มีล้อมรอบด้วยป่าไม้สูงใหญ่ การเดินทางไม่สะดวก ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองที่ใกล้ที่สุดอย่างน้อย 3 ชั่วโมง จึงไม่ได้รับความนิยม จนกระทั่งการระบาดของโควิด-19 บริษัทนำเที่ยวได้เล็งเห็นและใช้จุดนี้เป็นจุดขาย พร้อมทั้งสร้างสรรค์กิจกรรม การประชาสัมพันธ์ จนกระทั่งกลายเป็นจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นักท่องเที่ยวนอกจากจะได้สัมผัสวัฒนธรรมที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน การเชื่อมโยงโรงแรม ร้านค้า ร้านกาแฟ กิจกรรมทางน้ำใต้ดิน ทำให้โปรแกรมครึ่งวัน ขายได้ในราคาสูงถึง 1,000 ไต้หวันดอลลาร์ (ราคานี้ไม่รวมค่าอาหาร) มีการจัดกิจกรรมสังสรรค์ เกมส์ DIY การให้ความรู้นักท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก กระตุ้นเศรษฐกิจ และนำรายได้เข้าสู่ชุมชน

 

III บทสรุป

 

ผลกระทบของโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกนั้น มากเกินกว่าจะวัดผล แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด แผนกลยุทธ์ในการรับมือที่มีความยืดหยุ่นและการวิเคราะห์ตลาด เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อความอยู่รอด ตัวอย่างเช่น ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ ผู้คนลังเลที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ แต่บริษัทนำเที่ยวบางแห่งที่เชี่ยวชาญด้าน E-commerce เริ่มวิเคราะห์และใช้ฐานข้อมูลลูกค้าต่างประเทศมาพัฒนาและสร้างสรรค์สินค้าผ่านธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ส่งออกอาหาร เช่น หมูปรุงรสอบแห้ง ขนมเปี๊ยะใส่ไข่แดง ผลไม้ ไปขายที่ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี เป็นความสำเร็จที่คาดไม่ถึง สร้างรายได้ได้มากถึงร้อยละ 50 ของรายได้จากตลาดต่างประเทศ

 

ในช่วงเวลาที่ไต้หวันปิดประเทศ บริษัทจำเป็นต้องวิเคราะห์และประเมินรูปแบบธุรกิจให้เป็นปัจจุบัน วางแผนและบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มของอุตสาหกรรมในอนาคต ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันลูกค้าผูกพันกับโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ฟังก์ชันต่างๆ ของอุปกรณ์เคลื่อนที่ใช้งานได้ดีและสะดวก สามารถประยุกต์ใช้ applications ของบุคคลที่สามที่มีอยู่ในตลาดและได้รับความนิยมอยู่แล้ว เป็นเครื่องมือในการสื่อสารติดต่อลูกค้า เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการรักษาและเพิ่มพูนฐานตลาดนักท่องเที่ยวในประเทศ ภายหลังไต้หวันเปิดประเทศ บริษัทที่เดิมขายรายการนำเที่ยวในประเทศ สามารถกลับมาเฟื่องฟูรุ่งเรื่องได้อีกครั้งในตลาดต่างประเทศ ถือว่าเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริงในตลาดท่องเที่ยว