ยุคเทคโนโลยีการเกษตร – การเลี้ยงสัตว์ปีกอัจฉริยะ
Yi-Hsuan Wu(China Productivity Center Smart Agriculture Promotion Department)
จากข้อมูลรายงานที่เผยแพร่โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลแห่งสหประชาชาติ (IPCC) เกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อน 1.5C ระบุว่า หากภาวะโลกร้อนในปัจจุบันยังคงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจเพิ่มขึ้น 1.5C ในช่วงปี 2573-2595 และสภาพอากาศที่รุนแรงจะเกิดขึ้นบ่อยขึ้น ผลกระทบร้ายแรงประการหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก คือ ความมั่นคงของอาหาร ยกตัวอย่างเช่น ไต้หวันที่เกิดฝนตกหนักมากขึ้นและบ่อยขึ้น ตามสถิติของหนังสือเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติทั่วโลก ของ National Center for Disaster Prevention and Rescue (NCDR) ระบุว่า ในช่วงปี 2555-2561 มีฝนตกหนักเฉลี่ย 2-3 ครั้ง แต่ในปี 2562 มีฝนตกหนัก 5 ครั้ง ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาคการเกษตร ป่าไม้ ประมง และเลี้ยงสัตว์เป็นอย่างมาก นอกจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว การเกษตรแบบดั้งเดิมยังเผชิญกับปัญหาที่ดินทำกินที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ ปัญหาเกษตรกรสูงอายุ ปัญหาขาดแคลนแรงงานการเกษตร ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งรวมถึง การเกษตร องค์กรด้านการเกษตรมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการพัฒนาการเกษตรอัจฉริยะมากขึ้น โดยมีเป้าหมายปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น ไก่ซึ่งไวต่อความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นไก่จะหงุดหงิดง่าย กินอาหารและน้ำน้อยลง นำไปสู่ภาวะการขาดแคลนสารอาหาร การเจริญเติบโตของร่างกาย อัตราการออกไข่และน้ำหนักของไข่ จะได้รับผลกระทบทั้งหมด ส่งผลให้สุขภาพไม่ดี ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของไข่หวัดนกเกิดขึ้นบ่อยครั้งในไต้หวัน ความปลอดภัยทางชีวภาพกลายเป็นปัญหาที่ต้องตระหนัก เนื่องจากประชาชนให้ความสำคัญและต้องการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ปลอดภัยและมีคุณภาพสูงขึ้น ดังนั้นอุตสาหกรรมสัตว์ปีกและการปศุสัตว์ ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยทางชีวภาพที่ดีขึ้น เป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบันและยังเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาในอนาคต
อุตสาหกรรมสัตว์ปีกในไต้หวัน
จากสถิติของสภาเกษตร (Council of Agriculture: COA) แสดงให้เห็นว่า มูลค่ารวมของผลผลิตทางการเกษตรในปี 2018 อยู่ที่ 526 พันล้านดอลลาร์ไต้หวัน มูลค่าผลผลิตทั้งหมดของอุตสาหกรรมปศุสัตว์และสัตว์ปีกอยู่ที่ประมาณ 166.6 พันล้านดอลลาร์ไต้หวัน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 31.67 ของมูลค่ารวม อุตสาหกรรมสัตว์ปีกมีมูลค่า 53.6 พันล้านดอลลาร์ไต้หวัน คิดเป็นร้อยละ 33, ปศุสัตว์มีมูลค่า 73.7 พันล้านดอลลาร์ไต้หวัน หรือร้อยละ 45, ผลพลอยที่ได้จากการปศุสัตว์และสัตว์ปีกมีมูลค่ารวม 35.3 พันล้านดอลลาร์ไต้หวัน หรือร้อยละ 22 (ปศุสัตว์ร้อยละ 8 ส่วนสัตว์ปีกร้อยละ 14) และฟาร์มเลี้ยงไก่ มีอัตราส่วนที่มากที่สุดในอุตสาหกรรมสัตว์ปีก ไต้หวันมีฟาร์มเลี้ยงไก่ 6,259 ฟาร์ม มีไก่ 100 ล้านตัว ส่วนใหญ่คือไก่พื้นเมือง 2,968 ฟาร์ม, รองลงมาคือ ฟาร์มไก่ไข่ 1,853 ฟาร์ม, ไก่เนื้อ 903 ฟาร์ม การเลี้ยงเป็ดได้รับความนิยมเป็นอันดับสอง ไต้หวันมีฟาร์มเลี้ยงเป็ด จำนวน 2,600 ฟาร์ม เลี้ยงเป็ด 8.97 ล้านตัว โดยเป็นเป็ดปั๊วฉ่าย 1,905 ฟาร์ม รองลงมาคือ ฟาร์มเป็ดไข่ 395 ฟาร์ม ในจำนวนไก่ที่เลี้ยงในไต้หวัน 100 ล้านตัว เป็นไก่ไข่ 40.97 ล้านตัว คิดเป็นร้อยละ 40.6 ไก่ไข่ถูกเลี้ยงใน 3 รูปแบบ ได้แก่ ฟาร์มดั้งเดิมที่เลี้ยงไก่ในที่โล่ง ร้อยละ 82.7, เลี้ยงในกรงสูงร้อยละ 15.9, เลี้ยงในกรงม่านน้ำแรงดันลบ ร้อยละ 1.4 ในปี 2560 เลี้ยงไก่ในฟาร์มเปิดโล่งร้อยละ 84.9, ในกรงสูงร้อยละ 11.2, และในกรงม่านน้ำแรงดันลบ ร้อยละ 3.9 จะเห็นได้ว่า แม้ว่าฟาร์มไก่ดั้งเดิมต้องอาศัยกำลังแรงงานสูง แต่สัดส่วนของกรงม่านน้ำแรงดันลบมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก
การเพาะเลี้ยงสัตว์ปีกอัจฉริยะ
การเพาะเลี้ยงสัตว์ปีกแบบดั้งเดิมในที่โล่ง ควบคุมสภาพแวดล้อมยาก ดำเนินการด้วยแรงงานคน ยากต่อการเก็บบันทึกข้อมูลการผลิตและข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถทราบได้ว่าไก่ป่วยเมื่อใด การควบคุมโรคไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่สามารถปรับปรุงการผลิตและอัตราการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคง สภาการเกษตรเริ่มส่งเสริมแผนการเกษตรอัจฉริยะในปี 2560 โดยบูรณาการเทคโนโลยีล้ำสมัย (เช่น IoT, ICT, และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่) แนะนำการใช้เซ็นเซอร์ในการตรวจจับและรวบรวมข้อมูลให้เกษตรกรสามารถดำเนินการและจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ประกอบการกิจการสัตว์ปีกหลายรายได้ปรับใช้กรงม่านน้ำแรงดันลบแทนกรงดั้งเดิมที่มีประสิทธิภาพต่ำและผลการป้องกันการแพร่ระบาดได้ดี นอกจากนี้ยังได้นำสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์อัตโนมัติมาใช้จำนวนมาก ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการผลิต การฆ่า การแปรรูป ไปจนถึงการตลาด อาทิเช่น ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับการเลี้ยงสัตว์ปีก, ระบบฟักไข่อัจฉริยะซึ่งเพิ่มอัตราการฟักไข่จากร้อยละ 86-89 เป็นร้อยละ 90-93 ลดกำลังแรงงานลาดตระเวน ซึ่งสามารถฟักไข่ได้ครั้งละ 100,000 ฟอง, เทคโนโลยีการผสมพันธุ์อัจฉริยะ, ระบบจัดการเฝ้าติดตามโรงเรือนสัตว์ปีกควบคุมสิ่งแวดล้อมอัตโนมัติ, ระบบติดตามและจัดการไก่พื้นเมืองอัจฉริยะที่เพิ่มอัตราการผสมพันธุ์ร้อยละ 5 ระบบบรรจุกล่องอัจฉริยะแบบยืดหยุ่นได้ที่สามารถจัดการได้ 210 กล่องต่อชั่วโมง ลดเวลาทำงานได้ร้อยละ 25 ระบบให้อาหารอัตโนมัติ ระบบจัดการระบายถังหมัก ระบบการแปรรูปไข่เป็ด ในการนี้ขอแนะนำกรณีศึกษา ฟาร์มเลี้ยงเป็ดอัจฉริยะแห่งแรกในไต้หวัน
Leadray เป็นที่รู้จักอย่างดีในวงการฟาร์มเลี้ยงไก่ไต้หวัน มีประสบการณ์เลี้ยงไก่มากกว่า 30 ปี ฟาร์มไก่ครบวงจร ตั้งแต่การเพาะพันธุ์ การฆ่าด้วยไฟฟ้า การแปรรูปไปจนถึงการตลาด และการรับมือกับปัญหาโรคระบาดไข้หวัดนกที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อปี 2554 ฟาร์มไก่ในตำบลเอ้อหลิน เมืองจังฮว่า ได้ทำการปรับปรุงโครงสร้างผ้าใบดั้งเดิมเป็นกรงม่านน้ำแรงดันลบ ในปี 2560 ได้เข้าร่วมโครงการฟาร์มเลี้ยงไก่อัจฉริยะที่สภาเกษตรส่งเสริม โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเมืองอี๋หลาน (National Ilan University) สร้างฟาร์มเลี้ยงไก่อัจฉริยะแห่งแรกในไต้หวัน มีการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อมทั้งที่ด้านหน้า กลาง และหลังฟาร์ม มีการตรวจวัดอุณหภูมิ ความชื้น แอมโมเนีย คาร์บอนไดออกไซด์ และความชื้นของขยะมูลฝอย ตรวจจับคุณภาพอากาศภายในและความชื้นอัตโนมัติ เมื่อตรวจพบว่าค่าต่างๆ เกินกว่าที่ตั้งไว้ ก็จะเปิดพัดลม ปรับม่านน้ำและฉีดระบายความร้อนอัตโนมัติ ซึ่งควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่ผนวกประสบการณ์และอุปกรณ์ พารามิเตอร์ต่างๆ สามารถปรับค่าต่างๆ ได้ตามอายุของไก่ ทำให้ไก่สามารถเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดในทุกช่วงระยะของการเติบโต ทั้งยังช่วยลดความเครียดของไก่ที่เกิดจากอุณภูมิที่เปลี่ยนแปลงในช่วงกลางวันและกลางคืน นอกจากนี้ยังช่วยปกป้องไก่จากสภาพแวดล้อมภายนอก บุคลากรทุกคนที่เข้าในในฟาร์มไก่จะต้องสวมรองเท้า หมวก เสื้อผ้าพิเศษ และต้องได้รับการฆ่าเชื้อโรค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก
ในอดีต ผู้เลี้ยงไก่อาศัยประสบการณ์ในการพิจารณาสุขภาพของไก่ ปัจจุบันในยุคที่ขาดแคลนแรงงานเกษตรกรและปัญหาเกษตรกรสูงอายุ ทำให้การบริหารจัดการฟาร์มไก่ยากขึ้นเรื่อยๆ ระบบชั่งน้ำหนักไก่อัตโนมัติมีเซ็นเซอร์ป้อนอาหารและน้ำอัตโนมัติ คอยตรวจจับสถานะการเจริญเติบโตของไก่และวางแผนการเติบโตของน้ำหนักเป็นรายวัน มีการนำเสนอข้อมูลผ่านแอพมือถือ นอกจากระบบให้อาหารแล้ว ยังมีการใช้หุ่นยนต์รบกวนไก่เพื่อให้ไก่เคลื่อนที่เป็นครั้งคราว ลดปัญหาการเจ็บป่วยจากการไม่ได้เคลื่อนที่เป็นเวลานาน หุ่นยนต์จะเดินวนรอบฟาร์มตามพารามิเตอร์และเส้นทางเดินที่ตั้งไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ไก่ได้เคลื่อนไหวออกกำลังกาย เป็นการรักษาสุขภาพของไก่และทำให้ไก่กินและดื่มได้มากขึ้น ฟาร์ม HowFortunate หนึ่งในฟาร์มเลี้ยงไก่รายย่อยที่เซ็นต์สัญญาร่วมกับ Leadray ใช้กรงม่านน้ำความดันลบ และระบบป้อนอาหารอัตโนมัติ ฟาร์มตั้งอยู่บนพื้นราบ ไก่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ เป็นฟาร์มเลี้ยงไก่ที่ได้รับการรับรองด้านมนุษยธรรม ขั้นตอนผลิต สวัสดิภาพของสัตว์ตรงตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป ฟาร์มคู่สัญญาส่วนใหญ่เป็นฟาร์มธุรกิจภายในครอบครัว เกษตรกรรุ่นใหม่ยินดีประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติควบคู่กับการใช้ประสบการณ์ของคนรุ่นเก่าที่ยาวนานกว่า 60 ปีในการบริหารธุรกิจเลี้ยงไก่
ฟาร์มเลี้ยงไก่อัจฉริยะแห่งแรกได้ผนวกประสบการณ์ความรู้ของผู้เลี้ยงไก่ในอดีต เข้ากับเกณฑ์การตรวจจับและควบคุมสภาพแวดล้อมในโรงเลี้ยงไก่ สามารถถ่ายทอดให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ได้อย่างง่ายดาย แก้ปัญหาเกษตรกรสูงอายุ ปัญหาขาดแรงงานเกษตรกร ขาดแคลนประสบการณ์ในการเพาะพันธ์ ลดปัญหาการเก็บข้อมูลการเพาะพันธุ์ สามารถป้องกันโรคได้ สามารถลดความเครียดและการเกิดโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปรับปรุงคุณภาพของไก่พื้นเมือง เพิ่มอัตราการขยายพันธุ์ได้ร้อยละ 5 ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ปีกลดลง 9.63 ดอลลาร์ไต้หวันต่อกิโลกรัม เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของการเลี้ยงสัตว์ปีกในไต้หวัน
บทสรุป
นอกจากฟาร์มเลี้ยงไก่ Leadray แล้ว ตั้งแต่ปี 2562 ที่ได้เข้าร่วมโครงการเกษตรอัจฉริยะ ได้เยี่ยมชมกิจการฟาร์มสัตว์ปีกอัจฉริยะหลายแห่ง เชื่อมั่นว่าอุปกรณ์และเทคนิคการเลี้ยงและดูแลของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกในไต้หวันได้ผลดี จากความทรงจำในวัยเด็ก คุณตาต้องผสมอาหารและป้อนอาหารไก่ เก็บไข่ไก่ ทำความสะอาดกรง ต้มน้ำเดือดก่อนที่จะเริ่มฆ่าไก่ จากนั้นนำไก่ลงลวกในน้ำร้อน ถอนขน เอาเครื่องในออก ซึ่งต้องใช้เวลานาน 30 นาทีขึ้นไป ปัจจุบันแทบจะไม่เห็นภาพเหล่านี้อีกเลย ไก่ที่โตในโรงเลี้ยงไก่อัตโนมัติ มีการควบคุมอุณหภูมิในโรงเลี้ยงไก่ ในระหว่างการเยี่ยมชมท่านจะรู้สึกได้ถึงความก้าวหน้าในธุรกิจการเลี้ยงไก่ของไต้หวันที่เดินหน้าไปสู่การผลิตและการจัดการที่ชาญฉลาด สร้างสภาพแวดล้อมให้เกษตรกรสามารถดำเนินการได้อย่างสบายใจ ผู้บริโภคก็สามารถซื้อได้อย่างวางใจ