เทคโนโลยีอัจฉริยะในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
YUNI-TSAI(China Productivity Center Smart Agriculture Promotion Department)
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organization: FAO) เผยแพร่ รายงานการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโลก (The State of World Fisheries and Aquaculture: SOFIA) ซึ่งระบุว่า การบริโภคปลาโดยเฉลี่ยทั่วโลกสูงถึง 20.5 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีก 10 ปีข้างหน้าแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปลาในอาหารโลก ดังนั้นการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนและการจัดการที่มีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญมาก
ตลาดการประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำส่วนใหญ่เป็นตลาดในประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารทะเลที่สำคัญและขายตรงจากแหล่งกำเนิด ปัจจุบันผู้ประกอบอาชีพประเมงอายุมากขึ้น ทำให้กำลังแรงงานลดลงเรื่อยๆ ส่งผลต่อการสืบทอดทักษะและประสบการณ์ โชคดีที่รัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันส่งเสริมการวิจัยเพื่อแนะนำและบูรณาการเทคโนโลยี อาทิ การตรวจสอบและตรวจจับสิ่งแวดล้อม การควบคุมระยะไกลด้วยระบบ AI แฟลตฟอร์มคลาวด์และการจดจำภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเลี้ยงปลาผ่านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น การตรวจจับอัจฉริยะและการควบคุมอัจฉริยะ ซึ่งได้พัฒนาเป็นระบบการทำฟาร์มอัจฉริยะ รวบรวมข้อมูลหรือรูปภาพแบบเรียลไทม์ การส่งผลผ่านเครือข่ายไร้สาย การคำนวณและคาดการณ์อัจฉริยะ การส่งข้อมูลเตือนล่วงหน้า การคำนวณข้อมูลช่วยในการตัดสินใจ และฟังก์ชั่นเสริมอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ การตรวจจับคุณภาพของน้ำ การส่งข้อมูลและคำนวณข้อมูลอัจฉริยะ และการควบคุมอัจฉริยะที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเพาะพันธุ์
การเพาะเลี้ยงในกระชังเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย
การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังมีประวัติยาวนานหลายทศวรรษในไต้หวัน ปัจจุบันการเลี้ยงปลาในกระชังส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณนอกชายฝั่งที่เมืองผิงตง (Ping Tung) และเผิงหู (Peng Hu) สายพันธุ์หลัก ได้แก่ ปลาปอมปาโนสีทอง ปลาเก๋า ปลาช่อนทะเล การให้อาหารด้วยมือแบบดั้งเดิมจะอาศัยประสบการณ์ของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในการตัดสินใจว่าอาหารเพียงพอหรือไม่ ปลาอิ่มหรือไม่ และการประเมินสภาวะผิดปกติ การตัดสินใจทั้งหมดขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งขาดข้อมูลอ้างอิงเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้เกิดปัญหาการให้อาหารมากเกินไป
การควบคุมอาหารเป็นสิ่งสำคัญในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมาโดยตลอด และต้นทุนของอาหารสัตว์คิดเป็นร้อยละ 50 ของการเพาะเลี้ยงในกระชัง เทคโนโลยีอัจฉริยะใช้ระบบให้อาหารอัตโนมัติใต้น้ำ และกล้องใต้น้ำจับภาพปลา สะดวกในการติดตามรูปร่างขนาดของปลา สามารถคำนวณปริมาณอาหารตามน้ำหนักของปลาได้อย่างชัดเจนถูกต้องเหมาะสม ช่วยลดปริมาณอาหาร ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ กำไรได้อย่างมาก ทั้งยังช่วยลดมลพิษรักษาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เพื่อสุขภาพที่ดีแข็งแรงของปลา
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ
เครื่องเติมอากาศในฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำในอดีต เป็นแบบติดตายตัว เครื่องเติมอากาศปัจจุบันเป็นแบบเคลื่อนที่ได้ โดยจะเคลื่อนที่ไปมาเป็นวงกลมในบ่อ ทำให้ปลาและกุ้งในบ่อเคลื่อนไหวมากขึ้น เพิ่มออกซิเจนในน้ำ ลดระยะเวลาในการเลี้ยงและการผสมพันธุ์ เป็นการเพิ่มผลผลิตปลาทางอ้อม นอกจากนี้ยังลดการใช้พลังงานลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับการใช้เครื่องเติมอากาศแบบดั้งเดิม เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ช่วยให้บรรลุเป้าหมายการประหยัดพลังงานและช่วยลดคาร์บอนด้วย
คุณภาพของน้ำ คือ กุญแจสำคัญของสุขภาพปลา น้ำคุณภาพดีสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรค ระบบการตรวจจับเชื้อโรคอัตโนมัติ ซึ่งผนวกการตรวจสอบด้วยแสง เข้ากับเทคโนโลยีการระบุเชื้อโรคแบบดิจิทัล สามารถตรวจสอบความเข้มข้นของเชื้อโรคที่เป็นอันตรายได้แบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถป้องกันและรักษาโรคได้ เมื่อมีความเสี่ยง ระบบจะส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า เพื่อให้เปลี่ยนน้ำ กำจัดแบคทีเรียที่ก่อโรคในน้ำ ลดการใช้ยาลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลีกเลี่ยงการใช้ยาในทางที่ผิด ปลาสามารถเติบโตอย่างแข็งแรง หากพิจารณาในแง่ของเวลา การทดสอบคุณภาพน้ำแบบดั้งเดิมต้องใช้เวลา 3-4 วัน แต่ตอนนี้ สามารถทดสอบได้ด้วยเครื่องตรวจหาเชื้อโรคที่มีน้ำหนักเบา ลดระยะเวลาในการตรวจจับลงเหลือ 3-4 ชั่วโมง
ในอดีต ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหาศึกษาได้ไม่ง่ายนัก ต้องอาศัยการสังเกต การตรวจสอบ และประสบการณ์ของมนุษย์ ทำความเข้าใจพารามิเตอร์ของสภาพแวดล้อมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แม้ว่าเกษตรกรรุ่นใหม่จะยินดีรับช่วงต่อ แต่ก็ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายจำนวนมากในระยะแรก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไปที่สนใจให้เข้าถึงหลักการและความรู้ในการเพาะพันธุ์ เงื่อนไขการเลี้ยง สภาพของบ่อ ได้แม่นยำยิ่งขึ้น สถาบันวิจัยประมงภายใต้การกำกับดูแลของ COA จึงได้พัฒนารวบรวมประสบการณ์ของเกษตรกรทั้งหลาย สร้างเป็นระบบผู้เชี่ยวชาญการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอัจฉริยะ ผ่านการออกแบบระบบดำเนินการที่ใช้งานง่าย สามารถใช้งานบนคอมพิวเตอร์หรือบนโทรศัพท์มือถือ และมีการปรับปรุงข้อมูลภายในระบบอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน ผู้ประกอบการประมงหลายราย ลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีการประมงอย่างจริงจัง สานต่อประสบการณ์ประมงแบบดั้งเดิม ผนวกเทคโนโลยีการตรวจจับ เทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ ปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ เน้นการประหยัดแรงงานคนและเวลาในการทำงาน ชาวประมงยุคใหม่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ตรวจเช็คข้อมูลคุณภาพน้ำ สภาพแวดล้อมในการเพาะเลี้ยงแบบเรียลไทม์ หากพบสัญญาณผิดปกติ ก็สามารถจัดการได้ทันที เทคโนโลยีดังกล่าวไม่เพียงลดภาระการดำเนินงานในสถานที่และลดความต้องการแรงงานคน ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตในอุตสาหกรรมการประมงในไต้หวัน ปรับอุตสาหกรรมการประมงให้เป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน