แนวคิดการส่งเสริมการศึกษาด้านเกษตรอาหาร
:::

แนวคิดการส่งเสริมการศึกษาด้านเกษตรอาหาร

Lin Jsin YI(China Productivity Center Agriculture Management Department)

Ⅰ. บทนำ

จากชีวิตเกษตรกรรมที่เรียบง่ายในยุคแรก สู่การผลิตจำนวนมากและรวดเร็ว สารกำจัดวัชพืช ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี ถูกนำมาใช้จำนวนมาก ก่อให้เกิดมลพิษต่อพืชผลและสิ่งแวดล้อม ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืช ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ความอุดมสมบรูณ์ของดินถูกทำลายไป สังคมปัจจุบันที่เร่งรีบ วุ่นวาย ผู้คนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารและการเกษตรน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก ไม่รู้จักผลิตผลทางการเกษตรในท้องถิ่นในแต่ละฤดูกาล  ไม่เข้าใจกระบวนการเติบโตผลิตผล ขาดแนวคิดความรู้ในการคัดเลือกวัตถุดิบ, การปรุงอาหาร, และแนวคิดอาหารที่สมดุล คนบางส่วนต้องการแต่ผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่ สวยงาม โดยไม่คำนึงถึงกระบวนการผลิตและการแปรรูป ว่าจะส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมรอบตัวหรือไม่ การเกษตรกรรมสมัยใหม่ละเลยความรู้สึกขอบคุณที่ดินทำกิน ขอบคุณผู้ผลิตอาหารให้เรากิน เพราะไม่เข้าใจว่าผู้ผลิตลำบาก ต้องลงแรงมากน้อยแค่ไหน ปัจจุบันประชาชนให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น ประกอบกับปัญหาเกษตรกรสูงอายุ การพึ่งพาตนเองเรื่องอาหารลดลง การศึกษาเกษตรอาหาร จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจน่าศึกษาทำความเข้าใจ

 

II.    ทำไมต้องส่งเสริมการศึกษาด้านเกษตรอาหาร

แท้จริงแล้วการศึกษาด้านเกษตรอาหาร คือ การศึกษาเกี่ยวกับการเกษตรและอาหาร แต่เนื้อหาหลักคืออะไร คือการสอนวิธีการรับประทานอาหารอร่อยและวิธีการเป็นเกษตรกรมืออาชีพ? การฟังคำอธิบาย? การสัมผัสประสบการณ์ในฟาร์ม? หรือการทำ DIY เท่านั้นหรือ? แน่นอนว่า ไม่ใช่แค่นั้น กิจกรรมเหล่านี้อาจนำไปสู่ประสบการณ์จริงและเพิ่มพูนความรู้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การแนะนำความหมายที่แท้จริงของการทำฟาร์มเกษตร

 

การศึกษาด้านเกษตรอาหาร เป็นประสบการณ์ตรง ผู้เรียนจะต้องพัฒนาทักษะการทำฟาร์มและการทำอาหารง่ายๆ โดยการมีส่วนร่วมในกระบวนการทั้งหมดของผลิตภัณฑ์เกษตรตั้งแต่การผลิต การแปรรูป ไปจนถึงขั้นตอนการทำอาหาร ซึ่งไม่ใช่ประสบการณ์ผิวเผิน แต่เป็นการเรียนรู้ทำความเข้าใจแหล่งที่มาของอาหาร เพิ่มความสามารถในการเลือกอาหารที่เหมาะสม  มีความรู้ด้านโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง เรียนรู้ที่จะเคารพและขอบคุณอาหาร ผู้ผลิต และสิ่งแวดล้อม

 

การศึกษาด้านเกษตรอาหาร สามารถสร้างนิสัยการกินที่ดี หลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านอาหาร ในขณะเดียวกัน แนวคิด การบริโภคอาหารท้องถิ่น กระตุ้นให้สนับสนุนเกษตรกรในท้องถิ่น นำไปสู่การเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอาหารในท้องถิ่น ก่อเป็นวัฏจักรเชิงบวก พัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ได้ผลผลิตสะอาด ปลอดภัย และดีต่อสุขภาพ

 

III.   ทิศทางและแนวคิดในการส่งเสริมการศึกษาเกษตรอาหาร

โครงการส่งเสริมการศึกษาเกษตรอาหารในปี 2560 ได้มีการพัฒนาการศึกษาด้านเกษตรอาหารในไต้หวันหลายแง่มุม (ดังแผนภูมิที่ 1) แผนภูมินี้ อ้างอิงบทความของอาจารย์ Chen Chien-Chih และ Lin Miao-Chuan ในการอภิปรายเกี่ยวกับ การศึกษาอาหารและการเกษตร เมื่อเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโลก และแผนผังแนวคิดการศึกษาตลอดจนการบรรยายสรุป การส่งเสริมการศึกษาด้านเกษตรอาหารในระบบเกษตรกรรมไต้หวันโดยสภาเกษตร แผนผังนี้ครอบคลุมหลากหลาย แบ่งเป็น 8 ด้าน ได้แก่ อาหารคาร์บอนต่ำ วัฒนธรรมอาหาร อาหารสมดุล (ความรู้ด้านโภชนาการที่ถูกต้อง) การศึกษาการเกษตร อุตสาหกรรมชุมชน (รวมถึงเศรษฐกิจในชนบทและท้องถิ่น) ประสบการณ์ด้านอาหารและเครื่องดื่ม การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม (ความมั่นคงของอาหาร) และ การศึกษาด้านเกษตรอาหาร ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของอาหาร  ทั้งนี้แต่ละด้านยังมีแนวคิดย่อย ใช้อ้างอิงในการส่งเสริมการศึกษาด้านเกษตรอาหาร ดังนี้

 

 

(1)   ประสบการณ์การเกษตรและอาหาร

การศึกษาการเกษตรและอาหาร เริ่มต้นด้วย การมีส่วนร่วมส่วนบุคคล การมีส่วนร่วมของชุมชน ประสบการณ์ด้านการผลิตทางการเกษตรและการปรุงอาหาร ประสบการณ์ด้านระบบนิเวศน์ ผู้เรียนจะได้รับประสบการณ์ และปลูกฝังทักษะการเกษตรและอาหารเบื้องต้น ผ่านกระบวนการสังเกตและทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาในชนบท เพิ่มความรู้สึกที่ดีต่อที่ดินทำกินและเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม

 

(2)   อุตสาหกรรมชุมชน (รวมถึงเศรษฐกิจในชนบทและท้องถิ่น)

ในญี่ปุ่น Satoyama หมายถึง ชุมชนที่รายล้อมด้วยภูเขา ป่าไม้ และทุ่งหญ้า กล่าวคือ พื้นที่ระหว่างภูเขาสูงและที่ราบ ภูมิประเทศแบบผสมผสานของชุมนม ป่าไม้ และการเกษตรกรรม (Zhao Rong Tai, 2554) จุดริเริ่มความคิด Satoyama เพื่อให้ตระหนักถึงแนวคิดการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนของสังคมมนุษย์และธรรมชาติ ทำความเข้าใจกับ Satoyama (บก) และ Satoumi (ทะเล) ของไต้หวัน โดยเน้นการอนุรักษ์ระบบนิเวศและอุตสาหกรรมชุมชน ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของชุมชน สนับสนุนเกษตรรายย่อยในพื้นที่ ผสมผสานแนวคิดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน

 

(3)   การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโลก (ความมั่นคงทางอาหาร)

สะท้อนปัญหาการเกษตรที่ไต้หวันกำลังประสบอยู่ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม (ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ, การเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ ดิน แหล่งน้ำ และป่าไม้), แหล่งอาหารที่ปลอดภัย, และการผลิตทางการเกษตรที่ยั่งยืน

 

(4)   อาหารคาร์บอนต่ำ

อาหารคาร์บอนต่ำ ที่ชัดเจนและง่ายที่สุดคือ การผลิตเพื่อการบริโภคในท้องถิ่น ไม่เพียงลดระยะทางของอาหารและรอยเท้าคาร์บอน แต่ยังช่วยส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในท้องถิ่น การแปรรูปทางธรรมชาติ หมายถึง การแปรรูปเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการผลิตและการขาย (อาทิเช่น การแปรรูปผลไม้สดส่วนเกินให้เป็นผลไม้แห้ง เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาและเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์) การบริโภคอาหารในปริมาณที่เหมาะสม ไม่สิ้นเปลือง และการมองหาโปรตีนทดแทนจากสัตว์ (อาทิเช่น แมลง) ก็นับเป็นอาหารคาร์บอนต่ำเช่นกัน

 

(5)   วัฒนธรรมอาหาร

วัฒนธรรมอาหาร คือ อารมณ์ความรู้สึกของคนต่ออาหารและการใช้อาหาร อาหารชนิดเดียวกันอาจมีระดับความสำคัญ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ตลอดจนวีธีการปรุงและการบริโภคที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค ซึ่งควรค่าต่อการทำความเข้าใจ เพื่อรักษาวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น รวมถึงความสำคัญของอาหาร ลักษณะอาหาร  อาหารตามเทศกาล และพฤติกรรมการกิน

 

(6)   อาหารที่สมดุล (ความรู้ด้านโภชนาการที่ถูกต้อง)

การรับประทานอาหารที่สมดุล เป็นเป้าหมายที่ยากสำหรับคนยุคใหม่ ด้วยชีวิตที่วุ่นวาย ขาดความรู้เรื่องโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง ดังนั้นการศึกษาด้านเกษตรอาหาร จำเป็นต้องเข้าใจถึงความต้องการสารอาหาร หลักการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การเตรียมอาหาร การผสมผสานอาหาร ตลอดจนการปรุงอาหารสีเขียว การเพิ่มคุณค่าของอาหารเพื่อสุขภาพ

 

(7)   เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

พฤติกรรมของผู้บริโภคส่งผลต่ออุปทานและการดำเนินงานของตลาด ปัจจุบันผู้บริโภคไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องราคาสินค้าเกษตร แต่ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย สุขภาพ การเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่เพียงแต่จะให้ผลผลิตที่ปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังช่วยปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งเสริมวงจรและการพัฒนาที่ยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม สัตว์และพืช นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างผู้บริโภคกับเกษตรกรรายย่อยสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

 

(8)   ความปลอดภัยของอาหาร

การเลือกรับประทานอาหารเป็นศาสตร์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของคนยุคใหม่ เช่น วิธีการเลือกวัตถุดิบที่สดและอร่อย รูปลักษณ์กับคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไม่สัมพันธ์กัน ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารแปรรูปและสารเติมแต่ง วิธีการจัดส่งและการถนอมอาหาร ตรามาตรฐาน 4 ตรา และ QR Code ของไต้หวัน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญในการพิจารณาเลือกซื้ออาหารที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย

 

IV.  บทสรุป

สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และสภาพอากาศที่เป็นเอกลักษณ์ของไต้หวัน ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมทางนิเวศที่หลากหลาย ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี วัฒธรรมอาหารแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค  ดังนั้น การส่งเสริมการศึกษาด้านเกษตรอาหาร จะต้องมีความแตกต่างกัน ตามแต่ภูมิภาคนั้นๆ การศึกษาด้านเกษตรอาหาร ควรปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก ควรผนวกไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนทุกระดับ โดยในแต่ละโรงเรียนสามารถเน้นผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น ช่วยให้ผู้เรียนรู้เข้าใจกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่แหล่งผลิตสู่โต๊ะอาหาร เปลี่ยนแปลงแนวคิด ทัศนคติ และพฤติกรรม สามารถขยายรูปแบบจากโรงเรียนสู่ประชาชนทั่วไป ทำให้เกิดวัฏจักรเชิงบวกระหว่างบุคคล ชุมชน และสิ่งแวดล้อม บรรลุเป้าหมายเพื่อสุขภาพที่ดีกว่า ความปลอดภัยของอาหารที่ดีขึ้น ปริมาณอาหารที่เพียงพอ ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกรและยังช่วยฟื้นฟูชนบท ตลอดจนช่วยส่งเสริมการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม