เกษตรหมุนเวียน (Circular Agriculture) - ทิศทางแนวโน้มการเกษตรยุคใหม่หลังโควิด-19
หลังจากสถานการณ์โรคระบาด ในปี 2564 มนุษย์เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ผลกระทบของ COVID-19 ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องตั้งมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ตามแต่ระดับความรุนแรงในประเทศนั้นๆ ในยุคหลังโควิดนี้ นอกจากการทำงานที่บ้านและการจับจ่ายซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว ยังให้ความสำคัญกับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติและพืชผลทางการเกษตร ความเครียดที่เกิดจากปัญหาเงินเฟ้อ กระตุ้นให้นานาประเทศตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ, เศรษฐกิจหมุนเวียน, การพัฒนาอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
เศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ใช่แนวคิดใหม่ มีการใช้คำนี้ ตั้งแต่ปี 2532 โดยนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ชาวอังกฤษ David Pearce และ R. Kerry Turner ในหนังสือของพวกเขาได้กล่าวถึงว่า เส้นแสดงรูปแบบการผลิตและการบริโภคของมนุษย์ หลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยใช้คำว่า “บุกเบิก (extraction) – ผลิต (manufacture) – ใช้ (use) – ทิ้ง (disposition)” ซึ่ง เป็นเศรษฐกิจที่ใช้สิ่งแวดล้อมธรรมชาติเป็นสถานที่กำจัดขยะขนาดใหญ่ ที่ไม่เพียงแต่สร้างขยะมากมาย ยังต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงเพื่อการจัดการกับขยะที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดการสูญเสียทรัพยากร ในทางกลับกัน มองว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีการหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดแนวคิดการพัฒนากระบวนการรีไซเคิล นำเสนอแนวคิดธุรกิจที่นำสินค้าที่ผลิตแล้วมาใช้ซ้ำ เพื่อลดการใช้วัสดุและพลังงาน ตั้งเป้าเพื่อการรีไซเคิลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้ จะไม่มีขยะของเสียจริง ๆ มีแต่การจัดเก็บทรัพยากรที่ผิด ความหมายเศรษฐกิจหมุนเวียนครอบคลุมกว้างขวางทั้งสินค้าที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ แนวคิด พฤติกรรม อุปกรณ์เครื่องมือ และการบริการ ในการประชุมสหประชาชาติ ปลายปี 2558 ได้ตกลงกัน เรื่องเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยตั้งเป้าว่า จะบรรลุเป้าหมายรวม 17 รายการ ภายในปี 2573 ซึ่งถือเป็นเกณฑ์เป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สำคัญ ในขณะเดียวกัน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและการยกระดับอุตสาหกรรมของไต้หวัน สภาบริหารไต้หวัน (the Executive Yuan)ได้เสนอ "โครงการนวัตกรรมอุตสาหกรรม 5+2" ในปี 2559 ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาใน 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ Asia Silicon Valley, อุตสาหกรรมทางการแพทย์, เทคโนโลยีพลังงานทดแทน, เครื่องจักรกลอัจฉริยะ, และอุตสาหกรรมทางการทหาร ทั้งนี้ได้ผนวกเศรษฐกิจหมุนเวียนและการเกษตรกรรมแผนใหม่เข้าไว้ในยุทธศาสตร์หลักของอุตสาหกรรม นอกจากหวังว่าจะช่วยเร่งส่งเสริมการพัฒนา 5 อุตสาหกรรมหลัก ๆ แล้วยังช่วยกระตุ้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนรูปแบบใหม่
เศรษฐกิจหมุนเวียนแบ่งออกเป็น 2 แนวทางหลัก คือ วงจรอุตสาหกรรม (Industrial Cycle) และวงจรทางชีวภาพ (biological cycle) การรีไซเคิลวัสดุอุตสาหกรรม คือ การใช้วัสดุและทรัพยากรในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ การนำกลับมาใช้ใหม่ การซ่อมบำรุงแก้ไข โดยใช้ต้นทุนและขั้นตอนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ยกระดับมูลค่าวัสดุอุตสากรรม การดำเนินการรีไซเคิลอย่างแท้จริง จำต้องจับมือกับผู้ผลิตต้นทาง ตั้งแต่บริษัทผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์, การเลือกใช้วัสดุ, การทำลาย/รื้อทิ้งผลิตภัณฑ์, สร้างเกณฑ์มาตรฐานของอุปกรณ์, การนำกลับมาใช้ใหม่หรือนำกลับไปสู่วงจรการผลิตใหม่, การให้บริการตามแต่ผลิตภัณฑ์ที่ผลิต, สร้างระบบการรีไซเคิลระยะยาว ซึ่งต้องอาศัยเวลาในการสร้างสรรค์และมองเห็นผลของเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้ ในทางกลับกัน การรีไซเคิลวัสดุชีวภาพ คือการเน้นการใช้วัสดุและทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ, การนำวัสดุชีวภาพกลับมาใช้ใหม่, การสกัดและการย่อยสลาย, การใช้เชื้อจุลินทรีย์และกระบวนการชีวเคมี เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือนำกลับไปเป็นวัสดุธรรมชาติ กลับเข้าสู่วงจรชีวภาพต่อไป ภายใต้วงจรชีวภาพ วัสดุธรรมชาติจะถูกรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่อย่างเต็มประสิทธิภาพ อาศัยความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี ทำให้วัสดุที่เดิมเคยเป็นวัสดุเหลือใช้ กลับมามีมูลค่าสูงขึ้น สร้างโอกาส สร้างรายได้ กระบวนการกลั่นทางเคมีชีวภาพ (Biorefinery) สามารถนำเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร อาทิ เปลือกข้าว ฟางข้าว มาสกัดทำเป็นยา และไบโอดีเซล (Bio-diesel) เป็นต้น
การนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ในอุตสาหกรรมการเกษตร ก่อให้เกิดแนวคิดเกษตรหมุนเวียนซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ จากรายงานสถิติของไต้หวัน ทุกๆ ปีจะมีของเสียจากการเกษตรประมาณ 500 ล้านตันต่อปี ประกอบด้วย ของเสียและมูลฝอยจากสัตว์เลี้ยง ฟางข้าว ห่อสำหรับเพาะเลี้ยงเห็ด ของเสียและของเหลือทิ้งจากการประมง เศษไม้จากพืชต่างๆ หากเราสามารถศึกษาเรียนรู้และออกแบบโครงสร้างการทำงานของระบบการเกษตรใหม่ โดยนำสินค้าที่สร้างขึ้นและของเสียจากการผลิตนำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากจะทำให้วัสดุของเสียที่เคยถูกทิ้ง ให้กลับมามีมูลค่า ยังช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและชีวภาพ โดยการนำกลับมาใช้ใหม่หรือกลับไปสู่ธรรมชาติ ในทางปฏิบัติของเกษตรหมุนเวียน มูลนิธิหมุนเวียนไต้หวัน (Circular Taiwan Network : CTN) ได้กำหนดแนวความคิดทางอุตสาหกรรมที่สำคัญ 3 ประการ กล่าวคือ การปรับเปลี่ยนมูลค่าสินค้าที่ผลิต, ส่งเสริมการปฏิวัตินวัตกรรมใหม่, และแนวทางการแก้ไข
1. การหมุนเวียนสินค้าให้มีมูลค่าสูง (High-value cycle): เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพอย่างเต็มที่โดยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น น้ำ อากาศ แสงแดด และดิน พร้อมทั้งรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านการส่งเสริมประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมให้มีคุณภาพสูง มีมูลค่าสูง ไม่มีการสูญเสีย ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และไม่มีอุบัติเหตุ
2. การบริการ (Servitization of products): การเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากการซื้อขายขาด เป็นการให้บริการ ลดความกดดันทางการเงินของเกษตรกรและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแกร่งทางการเงินและการดำเนินธุรกิจในแต่ละวัน
3. การจับมือร่วมกันอย่างมีระบบ (Systematic cooperation): การร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมไปถึงเกษตรกร, วิศวกรสิ่งแวดล้อม, ผู้แปรรูปผลิตอาหาร, นักวิจัยพัฒนา, และนักวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สร้างสรรค์ธุรกิจที่เกื้อกูลกับสิ่งแวดล้อมและหลากหลาย ก่อให้เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน ผลักดันให้สินค้ามีมูลค่าสูงขึ้น
เป้าหมายหลักของเศรษฐกิจหมุนเวียนและเกษตรหมุนเวียน คือ การลดการสูญเสียและการสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ, การยกระดับการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น, การสร้างสรรค์ผลกระทบเชิงบวกต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและสิ่งแวดล้อม, การยกระดับความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก, การเสริมสร้างความมั่นคงในอุตสาหกรรมและการเกษตรในภาครวม , การลดช่องว่างความแตกต่างระหว่างเมืองหลักและเมืองรอง, การเสริมสร้างสังคมที่เป็นมิตร แข็งแกร่ง และมีความยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรมของไต้หวัน