แนวโน้มและอนาคตของเกษตรอัจฉริยะ(Smart Agriculture) ในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
:::

แนวโน้มและอนาคตของเกษตรอัจฉริยะ(Smart Agriculture) ในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Hung, Chia Hung(China Productivity Center Smart Agriculture Promotion Department )

1. ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการเกษตร

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบหลายด้านต่อการเกษตร ทำให้การเกษตรต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งมีผลกระทบที่ลึกซึ้งต่อการผลิตทางการเกษตร ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้น สภาพอากาศแปรปรวนรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น ฝนตกไม่สม่ำเสมอ และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อระบบนิเวศทางการเกษตร การเจริญเติบโตและการพัฒนาของพืชผล รวมถึงคุณภาพของดิน เช่น การที่อุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้นส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาของพืชผล อุณหภูมิที่สูงอาจทำให้พืชบางชนิดออกดอกและสุกเร็วขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลิตผล พืชบางชนิดอาจไม่สามารถปรับตัวกับอุณหภูมิที่สูงเกินไป ส่งผลให้ได้ผลผลิตลดลง

เหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรง เช่น น้ำท่วม พายุ และภัยแล้งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อการเกษตร ทำลายที่ดินการเกษตร การทำลายพืชผล และการลดลงของแหล่งน้ำ ซึ่งล้วนเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อผลผลิตทางการเกษตร

นอกจากนี้ ฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอก็นำไปสู่ปัญหาภัยแล้งหรือฝนตกหนักบ่อยครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อน้ำเพื่อการเกษตร เกิดปัญหาขาดน้ำหรือชุ่มชื้นมากเกินไปส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ทำให้ผลผลิตลดลงและเสี่ยงเป็นโรค ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพิ่มความสามารถในการปรับตัวและเพิ่มภูมิต้านทานด้านการเกษตร ให้สามารถปรับตัวรับมือสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรที่เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์

2. แนวคิดและเทคโนโลยีของเกษตรอัจฉริยะ

หลักการของเกษตรอัจฉริยะ คือ การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ อย่างครบถ้วนและทันที ใช้ข้อมูลที่แม่นยำประกอบการตัดสินใจทางการเกษตร การใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติ เช่น การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้กระบวนการเกษตรดำเนินการอย่างอัตโนมัติ เกษตรอัจฉริยะใช้เทคโนโลยีการตรวจจับต่างๆ เช่น GPS และเซ็นเซอร์ระยะไกล (Remote Sensing) โดยทำการแบ่งแยกพื้นที่การเกษตรเป็นโซนต่างๆ ใช้การบริหารจัดการที่แตกต่างกัน บริหารจัดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน เกษตรอัจฉริยะ(Sustainable Development of agriculture) สามารถดำเนินการส่วนที่เกี่ยวข้องหลายประการ

ประการแรก คือ การลดการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงานและน้ำประปา ประการที่สอง คือการลดการใช้สารเคมี สนับสนุนการเกษตรออแกนิคและการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประการสุดท้าย คือการจัดการคุณภาพดินที่เหมาะสม รักษาความอุดมสมบูรณ์และโครงสร้างของดิน ช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของพืชผล การเกษตรอัจฉริยะไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการใช้เทคโนโลยี เกษตรกรรมอัจฉริยะจึงเพิ่มมูลค่าการเกษตรพร้อมทั้งรักษาและปรับปรุงสภาพแวดล้อม

เมื่อโลกร้อนขึ้น และสภาพอากาศที่แปรปรวน การพัฒนาการเกษตรท้าท้ายความสามารถมากยิ่งขึ้น การนำเทคโนโลยีอัจฉริยะและเทคโนโลยีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์กลาย สามารถรักษาเสถียรภาพความมั่นคงในการผลิตอาหาร การใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ต้นจนปลาย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือในการเกษตร ทำให้สามารถรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวนได้

เทคโนโลยีการผลิตที่แม่นยำสามารถบริหารจัดการตามแต่ละสภาพดิน สภาพอากาศ และการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิด สามารถเพิ่มผลผลิตและลดการสูญเสีย ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีอัจฉริยะสามารถควบคุมความเสี่ยงและเตือนภัยล่วงหน้า สามารถระบุความเสี่ยงจากภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที และปฏิบัติการต่างๆ เพื่อป้องกันความสูญเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. ทิศทางใหม่ของเกษตรกรรมในไต้หวัน

ไต้หวันนอกจากจะเผชิญปัญหาพื้นที่จำกัดและประชากรหนาแน่น ยังต้องเผชิญกับการแบ่งแยกที่ดินเป็นชิ้นเล็ก ๆ และปัญหาการเกษตรกรสูงอายุ เกิดช่องว่างระหว่างเกษตรกรรุ่นใหม่และเกษตรกรรุ่นเก่า นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง ทำให้การพัฒนาการเกษตรต้องเผชิญกับความท้าทายและต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ดังนั้น การนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้ในภาคเกษตรกรรม จะช่วยเชื่อมโยงขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ต้นจนปลาย สามารถรักษาเสถียรภาพของการผลิตอาหาร โมเดลการผลิตและการตลาดที่มีนวัตกรรมช่วยเพิ่มมูลค่าการเกษตร การเกษตรอัจฉริยะเสริมสร้างฐานการผลิตที่ยั่งยืน เป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการเกษตรในอนาคต

นอกจากการผนวกเทคโนโลยีในการเกษตรแล้ว สภาพภูมิอากาศที่รุนแรงยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเผชิญ องค์การระหว่างรัฐบาลว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้เรียกร้องให้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับภัยคุกคามที่เกิดจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นและแนวทางการรับมือกับสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ส่งเสริมการเกษตรกรรมอัจฉริยะที่มีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้เทคโนโลยี IoT เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร, ประยุกต์แนวคิดการรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน, และเสริมสร้างความยืดหยุ่นให้ระบบการเกษตร เพิ่มความสามารถในการปรับตัว และความยั่งยืนของการเกษตร คงความมั่นคงด้านอาหาร และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจการเกษตร สามารถเปิดโอกาสทางการตลาดมากขึ้น

การเกษตรที่หลากหลาย ทำให้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมีความซับซ้อนมากกว่าสาขาอื่นๆ ต้องคำนึงถึงปัจจัยสภาพอากาศและภูมิศาสตร์ จำต้องปรับแต่งให้มีความเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น ซึ่งการแก้ไขปัญหาเหล่านี้เปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เช่น การใช้เทคโนโลยี IoT ในระบบน้ำ การตรวจวัดอุณหภูมิ การป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช เพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต เกิดนวัตกรรมทางชีววิทยา หรือการใช้บิ๊กเดต้าและ AI ยกระดับการทำงานทั้งระบบ

4. บทสรุป

หากย้อนพิจารณาภาคเกษตรกรรมไต้หวันในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านการเกษตรจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถเห็นผลตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากขาดแบบแผนธุรกิจที่ชัดเจนและการวางแผนอย่างมีระบบ การส่งเสริมเกษตรกรรมอัจฉริยะก็เผชิญกับปัญหาเดียวกัน ดังนั้น แนะนำว่าในอนาคต ควรร่วมมือกับหน่วยงานรัฐบาล, องค์การเกษตรฐเทคโนโลยี และเกษตรกร ใช้เทคโนโลยีเกษตรกรรมอัจฉริยะ ช่วยเกษตรกรในการจัดการดิน ใช้ทรัพยากรน้ำอย่างเหมาะสม ลดการใช้สารเคมี สร้างสรรค์กรรมวิธีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน ส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สร้างนวัตกรรมการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน

ในขณะเดียวกัน ด้วยความร่วมมือกันของภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล การศึกษา และการวิจัย สร้างสรรค์แบบแผนธุรกิจใหม่ เป็นแนวทางในดำเนินการในอนาคต เช่น การผลิต การแปรรูป ช่องทางจำหน่าย และการจำหน่าย ใช้ความได้เปรียบทางเทคโนโลยีของไต้หวันในการจำหน่ายช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ผสมผสานกลยุทธ์การตลาด เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและรับประกันคุณภาพ และความปลอดภัย ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการอาหารที่มีคุณภาพ