สถานการณ์การส่งออกสับปะรดของไต้หวันในปัจจุบัน
:::

สถานการณ์การส่งออกสับปะรดของไต้หวันในปัจจุบัน

Peng,Tzu Chin(China Productivity Center Agricultural Innovation Department II)

สับปะรดไต้หวันเป็นผลไม้ส่งออกที่สำคัญของไต้หวัน นับตั้งแต่ที่จีนระงับการนำเข้าสับปะรดจากไต้หวัน ตลาดส่งออกหลักจึงเปลี่ยนไปเป็นญี่ปุ่น แต่การส่งออกไปญี่ปุ่นมักพบปัญหาด้านคุณภาพ มีรายงานว่าสับปะรดมีอาการเนื้อเป็นสีน้ำตาล หรือพบมอธและเพลี้ยแป้ง ต้องผ่านกระบวนการรมควันเพื่อฆ่าเชื้อ ส่งผลกระทบต่อการขายและราคาขายในตลาดญี่ปุ่น ดังนั้น การรักษาคุณภาพของผลผลิตให้คงที่ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข

สับปะรดไต้หวันที่ส่งออก ส่วนใหญ่คือพันธุ์ "ไถหนง 17" หรือที่รู้จักกันในชื่อ "สับปะรดจินจ้วน" มีเนื้อหวานฉ่ำ แกนสามารถรับประทานได้ มีน้ำและน้ำตาลสูง แม้ว่าสับปะรดจะมีรสชาติดี แต่เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลสูง หากไม่ควบคุมคุณภาพให้ดี มีโอกาสเกิดเชื้อราได้ง่าย ประกอบกับ การขนส่งทางเรือที่ใช้เวลานาน อาจทำให้คุณภาพลดลง

เมื่อเปรียบเทียบกับสับปะรดพันธุ์ MD2 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ครองตลาดโลกมากที่สุด สัปปะรดพันธุ์ MD2 มีเส้นใยที่หยาบและแข็งกว่า มีน้ำน้อยกว่า และระหว่างการขนส่งที่มีอุณหภูมิต่ำ แกนสัปปะรดไม่เป็นสีน้ำตาลง่าย จึงเหมาะสำหรับการส่งออกมากกว่าสับปะรดจินจ้วนที่มีน้ำและน้ำตาลมาก และพบปัญหาเชื้อราและเนื้อเป็นสีน้ำตาลน้อยกว่า

นักวิจัยจากสถาบันวิจัยและปรับปรุงการเกษตรของไต้หวันได้ทำการศึกษาปัญหาที่พบในสับปะรดส่งออก โดยพบปัญหาหลักดังนี้:

ความไม่สมดุลของรสชาติ ไม่เป็นไปตามคาดหวัง

สับปะรดจินจ้วนมีชื่อเสียงในด้านเนื้อหวาน แต่ในปี 2566 มีรายงานว่าสับปะรดมีความเป็นกรดสูงเกินไป นักวิจัยคาดว่า สาเหตุความเสียหายเกิดจากอุณหภูมิหนาวเย็นในปีที่ผ่านมา ทำให้คุณภาพของผลผลิตลดลง อีกสาเหตุหนึ่ง คือ สับปะรดถูกเก็บเกี่ยวเมื่อยังไม่สุกเต็มที่ ทำให้ปริมาณน้ำตาลไม่ถึง 14°Brix

ความเสียหายจากความหนาวเย็น

สับปะรดเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศอบอุ่น มีแสงแดดและปริมาณน้ำฝนที่เหมาะสม แต่หากอุณหภูมิในฤดูหนาวต่ำเกินไปจะไม่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของสับปะรด สับปะรดทนแล้งแต่ไม่ทนน้ำขัง จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกซึ่งก่อให้เกิดปรากฏการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ในปี 112 ผลสับปะรดในไต้หวันได้รับความเสียหายจากความหนาวเย็น มีอาการน้ำท่วมในบางส่วนและเนื้อสับปะรดเป็นสีน้ำตาล

ลักษณะภายนอกของผลไม้เปลี่ยนสภาพ

นอกจากเนื้อสับปะรดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแล้ว สับปะรดไต้หวันที่จำหน่ายในญี่ปุ่นยังพบปัญหาลักษณะเปลือกภายนอกเป็นสีน้ำตาลและยอดสับปะรดเหี่ยวเฉา สาเหตุอาจเกิดจากการที่ไม่ได้ค่อยๆลดอุณหภูมิของผลไม้ ก่อนที่จะเก็บลงในตู้คอนเทนเนอร์ที่มีอุณหภูมิต่ำถึง 13 องศาเซลเซียส ความแตกต่างของอุณหภูมิส่งผลให้ผลไม้เหี่ยวเฉา หรือ อาจเกิดจากการขนส่งล่าช้า ทำให้ระยะเวลาตั้งแต่การเก็บเกี่ยวไปจนถึงการวางจำหน่ายนานเกินไป

ผลไม้ถูกประเทศนำเข้าใช้วิธีรมควันหรือมีสารตกค้างจากยาฆ่าแมลง

ในกระบวนการตรวจสอบที่ชายแดนของประเทศนำเข้า หากตรวจพบมอธและเพลี้ยแป้งในสับปะรด จะถูกผ่านการฆ่าเชื้อที่เรียกว่าการรมควัน หากพบเพลี้ยแป้งจะใช้วิธีรมควันขนาดเล็กด้วยก๊าซฟอสฟีน (phosphine gas) หากพบมอธจะเป็นการรมควันขนาดใหญ่ใช้เมทิลโบรไมด์ (methyl bromide)

จากข้อมูลทางการของญี่ปุ่น พบว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สับปะรดส่งออกของไต้หวันถูกนำไปรมควันสูงถึง 30% ซึ่งการรมควันอาจส่งผลให้คุณภาพลดลง ส่งผลกระทบต่อการขายสับปะรดของไต้หวัน

เพื่อรักษาคุณภาพของสับปะรดส่งออก กระทรวงเกษตรของไต้หวันได้เสนอหลายมาตรการและวิธีการปรับปรุงดังนี้:

การพยากรณ์ช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวและปริมาณผลผลิต

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 สถาบันวิจัยการเกษตร (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงเกษตร) ได้จัดการประชุมเทคโนโลยีการผลิตและการขายสับปะรด โดยอธิบายถึงระบบการจัดการพื้นที่การปลูกสับปะรดที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ล้ำสมัย ที่เรียกว่า "i-PLANT" ซึ่งระบบนี้ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่และข้อมูลบนคลาวด์ สามารถบันทึกข้อมูลการผลิตและการดำเนินงานการเกษตรผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ รวมถึงพยากรณ์สภาพอากาศ การจัดการการผลิต การคาดการณ์ผลผลิต และการวางแผนการขาย นอกจากนี้ยังใช้ในการปรับปรุงการจัดการเทคนิคและกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยว การคัดเลือก และการทำความสะอาด

สำหรับการเก็บเกี่ยวและการคัดเลือกผลผลิตจากการวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนาการเกษตร การเก็บเกี่ยวสับปะรดเพื่อการส่งออกควรทำตามมาตรฐานระดับความสุกของสับปะรดและแผนภูมิการเปลี่ยนสี ทั้งนี้เนื่องจากอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมหลังการเก็บเกี่ยวมีผลต่อระยะเวลาการสุกของผลผลิต ดังนั้นการเก็บเกี่ยวผลสับปะรดควรพิจารณาตามฤดูกาล เพื่อให้แน่ใจว่าผลสับปะรดที่ส่งออกอยู่ในระดับความสุกที่เหมาะสม ควรเลือกผลสับปะรดที่ให้เสียงก้องเมื่อเคาะ และควรคัดแยกผลผลิตที่มีรูปลักษณ์ผิดปกติ เสียหายหนัก หรือมีการติดเชื้อโรคและแมลงออกจากกลุ่มผลผลิตดี

สำหรับการทำความสะอาด เพื่อป้องกันการระบาดของมอธและเพลี้ยแป้ง รวมทั้งสิ่งสกปรกและเศษซากต่างๆ การทำความสะอาดผลสับปะรดเป็นสิ่งสำคัญมาก หน่วยวิจัยทางการเกษตรแนะนำให้ใช้ปืนลมแรงดันสูง (ใช้น้ำล้าง) ในการทำความสะอาด ผลสับปะรดควรมีส่วนของยอดสับปะรดติดมาด้วย เพื่อป้องกันการซึมของน้ำเข้าสู่ผลผลิต นอกจากนี้การทำความสะอาดควรทำภายใต้แสงแดดเพียงพอ เพื่อให้ได้ผลดี และควรป้องกันการปนเปื้อนซ้ำ ด้วยการแบ่งโซนแยกกัน มีอุปกรณ์เก็บฝุ่น และดำเนินการทำความสะอาดตามช่วงเวลาที่กำหนด

กระบวนการการทำความเย็นล่วงหน้า

นักวิจัย เฉินซือหรู จากศูนย์วิจัยเกษตรเมืองเกาสุง กล่าวว่า กระบวนการทำความเย็นล่วงหน้าเป็นส่วนสำคัญสำหรับการนำผลผลิตทางการเกษตรเข้าสู่ห่วงโซ่ความเย็น เนื่องจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวสับปะรดจะอยู่ระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม โดยอุณหภูมิของผลผลิตที่เก็บเกี่ยวในช่วงกลางเดือนเมษายนอาจสูงถึง 35℃ ขณะที่อุณหภูมิการเก็บรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสับปะรดพันธุ์ไถหนง 17 ควรอยู่ที่ 13℃ ดังนั้นเพื่อปรับปรุงคุณภาพสับปะรดที่ส่งออก การนำกระบวนการลดอุณหภูมิแบบค่อยเป็นค่อยไปมาใช้จะช่วยให้ผลผลิตสับปะรดที่ไม่ทนต่อความเย็นสามารถปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิต่ำได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อคงความสดของผลสับปะรดและรูปลักษณ์ภายนอก

ปัจจุบัน วิธีการทำความเย็นล่วงหน้าส่วนใหญ่จะใช้การทำความเย็นในห้องและการทำความเย็นแบบต่างความดัน เนื่องจากการทำความเย็นในห้องต้องใช้เวลานานในการลดอุณหภูมิ ส่วนการทำความเย็นแบบต่างความดันสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำความเย็นได้อย่างมาก ขณะนี้ศูนย์วิจัยเกาสงกำลังศึกษาวิธีที่จะช่วยโรงงานบรรจุภัณฑ์นำกระบวนการทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพมาใช้เพื่อรักษาความสดของสับปะรดที่ส่งออก

ปริมาณการส่งออกสับปะรดของไต้หวันในช่วงสามปีที่ผ่านมา จากข้อมูลบนเว็บไซต์กระทรวงเกษตรไต้หวันในส่วน "สถิติการเกษตร" พบว่าปริมาณการส่งออกสับปะรดของไต้หวันลดลงทุกปีตั้งแต่ปี 2564 ถึงปี 2566 โดยในปี 2564 ปริมาณการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 28,000 ตัน, ปี 2565 อยู่ที่ 20,000 ตัน, และในปี 2566 ลดลงเหลือเพียง 16,000 ตัน แม้ว่าจะไม่สามารถทราบสาเหตุที่ชัดเจนของการลดลงของปริมาณการส่งออกได้ แต่คุณภาพสับปะรดที่ไม่สม่ำเสมอในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อชื่อเสียงของสับปะรดไต้หวันน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้นการปรับปรุงคุณภาพสับปะรดที่ส่งออกจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

ในปี 2564 มีผู้ประกอบการส่งออกสับปะรดถึง 100 ราย แต่ในปี 2566 ลดลงเหลือเพียง 59 ราย นอกจากนี้ หน่วยงานที่จัดหาสับปะรดยังลดลงจาก 82 รายเหลือเพียง 28 ราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าห่วงโซ่อุปทานสับปะรดมีแนวโน้มที่จะรวมกลุ่มกันมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการผลิตในรูปแบบที่มีขนาดใหญ่และได้มาตรฐาน

ขณะนี้หน่วยงานวิจัยการเกษตรได้เสนอแนวทางปรับปรุงและกำหนดกระบวนการมาตรฐานสำหรับทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิต การรวบรวมบรรจุภัณฑ์ จนถึงการขนส่ง หากสามารถปรับปรุงคุณภาพผลผลิตได้สำเร็จและสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีเสถียรภาพ ก็จะเป็นแบบอย่างให้กับผู้ส่งออกและโรงงานบรรจุภัณฑ์รายอื่น ๆ ส่งผลดีโดยตรงต่อการยกระดับคุณภาพสับปะรดส่งออกของไต้หวัน

นอกจากนี้ ตลาดส่งออกสับปะรดของไต้หวันส่วนใหญ่ยังคงอยู่ที่ญี่ปุ่นและฮ่องกง หากสามารถสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เสถียรและปรับปรุงคุณภาพผลผลิตได้ การพัฒนาตลาดใหม่ ๆ ก็จะกลายเป็นโอกาสสำคัญอีกด้วย